รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดโครงการหน่วยแพทย์เฉพาะทางอาสา กรมการแพทย์ เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านวิชาการและบริการให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และดูแลรักษาประชาชนตามปัญหาด้านสุขภาพที่สำคัญของจังหวัดระยองให้เข้าถึงการรักษาบริการเฉพาะทาง 8 สาขา ได้แก่ การดูแลผู้สูงอายุ ทันตกรรม ตา โรคมะเร็ง ผิวหนัง การทำกายอุปกรณ์เทียม พัฒนาการเด็ก และการดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่สอดรับกับจุดมุ่งหมายของศูนย์ประสานงานหน่วยแพทย์อาสามูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูลในการพาหมอไปหาคนไข้ การจัดระบบบริการแบบบูรณาการระหว่างผู้เชี่ยวชาญส่วนกลางร่วมกับพื้นที่ และการพัฒนาสู่ความยั่งยืนให้บุคลากรในพื้นที่สามารถดูแลผู้ป่วยที่มีความยุ่งยากซับซ้อนเองได้
เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2565 ที่ โรงพยาบาลเขาชะเมาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีโครงการหน่วยแพทย์เฉพาะทางอาสา กรมการแพทย์ ภายใต้ศูนย์ประสานงานหน่วยแพทย์อาสามูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล ส่วนกลาง (กรมการแพทย์) และกล่าวว่ากระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินนโยบายพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ให้เป็นโรงพยาบาลที่มากกว่าโรงพยาบาล ซึ่งการดำเนินโครงการหน่วยแพทย์อาสา กรมการแพทย์ ในครั้งนี้จะช่วยยกระดับโรงพยาบาลชุมชนให้สามารถดูแลรักษาประชาชนในพื้นที่ได้เข้าถึงบริการด้านการแพทย์ที่ซับซ้อน และการแพทย์เฉพาะทางด้านต่างๆ ตามที่กรมการแพทย์รับผิดชอบ โดยจะมีการจัดบริการตรวจวินิจฉัย ดูแลรักษา และให้คำปรึกษาแก่ประชาชนโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โครงการหน่วยแพทย์เฉพาะทางอาสาฯ ครั้งนี้ ได้จัดอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ของจังหวัดระยองเข้าร่วม จำนวน 350 ราย และในวันที่ 17 สิงหาคม 2565 จะมีการให้บริการใน 8 สาขา ได้แก่
1. สาขาการดูแลผู้สูงอายุ โดย สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุและโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ จังหวัดชลบุรี 2. สาขาบริการทันตกรรม โดย สถาบันทันตกรรม
3. สาขาจักษุวิทยา โดย โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) 4. สาขาโรคมะเร็ง โดย โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี และสถาบันมะเร็งแห่งชาติ 5. สาขาการดูแลผู้ป่วยโรคผิวหนัง โดย สถาบันโรคผิวหนัง 6. สาขาพัฒนาการเด็ก โดย สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี 7. สาขาการดูแลผู้ป่วยกึ่งเฉียบพลันและการฟื้นฟูสมรรถภาพ โดย สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ และ 8. สาขาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดย โรงพยาบาลราชวิถี โดยได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัดระยองสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ และเจ้าหน้าที่ช่วยให้บริการประชาชน ซึ่งมีแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจากส่วนกลางและพื้นที่อาสาปฏิบัติหน้าที่ จำนวน 80 คน และมีผู้ป่วยเข้ารับบริการทั้งสิ้น 445 ราย โดยผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาต่อจะถูกส่งไปต่อไปยังโรงพยาบาลประจำจังหวัดและโรงพยาบาลเฉพาะทางในเขตสุขภาพ เช่น โรงพยาบาลแกลง โรงพยาบาลระยอง และโรงพยาบาลมะเร็งชลบุรีรับดูแลตามระบบ